พลาสติก 101 : รู้จักพลาสติกในชีวิตประจำวัน
พลาสติก 101 : รู้จักพลาสติกในชีวิตประจำวัน
ขวดพลาสติกที่เราล้าง ตากให้แห้งแล้วส่งให้กับร้านรับซื้อขยะ หรือกล่องนม ถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ที่เราคิดว่าน่าจะรีไซเคิลได้ จริงๆแล้วบรรจุภัณฑ์ใช้ครั้งเดียวทิ้งเหล่านี้ประกอบด้วยพลาสติกประเภทไหน รีไซเคิลได้ 100 % หรือเปล่า?
วันนี้เราอยากชวนทุกคนมาสำรวจขยะพลาสติกที่เราใช้ว่ามีพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งประเภทใดบ้าง โดยเราสามารถแบ่งดังนี้
สัญลักษณ์ เบอร์ 1: โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET) พลาสติกประเภทนี้คือขวดพลาสติกใสๆ มองทะลุได้ เช่น ขวดน้ำเปล่า ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันพืช และขวดเครื่องปรุงอาหาร ให้เราจำสัญลักษณ์ เบอร์ 1 และ PET
สัญลักษณ์ เบอร์ 2: โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE) บรรจุภัณฑ์พลาสติกสีขาวและสีอื่นที่เป็นสีทึบ (ให้นึกถึงพวกขวดนมสีขุ่นๆ) ขวดชนิดนี้จะเหนียวและทนทานกว่า PET ยกตัวอย่างเช่น ขวดนม ขวดแชมพู ขวดน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า กระปุกยา เป็นต้น สามารถสังเกตสัญลักษณ์ เบอร์ 2 และ HDPE/HD-PE
สัญลักษณ์ เบอร์ 3: โพลีไวนิล คลอไรด์ (PVC) หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า พีวีซี เป็นวัสดุที่เป็นแบบแข็งหรือเป็นยาง นอกจากท่อพีวีซีที่ใช้เป็นอุปกรณ์ก่อสร้างแล้ว พวกของเล่นเด็ก ผ้าม่านห้องน้ำ แฟ้มใส่เอกสาร บัตร หลอดพลาสติกแบบแข็ง ก็ผลิตจากพีวีซีทั้งสิ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น พลาสติกชนิดนี้สารประกอบคลอรีนเป็นองค์ประกอบสามารถตกค้างเป็นมลพิษต่อสุขภาพเราและสิ่งแวดล้อมได้ และเป็นพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดอีกด้วย ส่วนสัญลักษณ์ของ พีวีซี คือเบอร์ 3 หรือ PVC/V
สัญลักษณ์เบอร์ 4: พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ หรือ LDPE พลาสติกเบอร์ 4 นี้ เป็นฟิล์มพลาสติกที่ยืดหยุ่นได้ เช่น ถุงพลาสติกมีหูหิ้ว หลอดพลาสติก พลาสติกแรปห่ออาหาร
สัญลักษณ์เบอร์ 5:โพลีโพพีลีน (PP) พลาสติกแข็ง ถูกใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เช่น ถ้วยโยเกิร์ต ถ้วยบะหมีกึ่งสำเร็จรูปแบบแข็ง สัญลักษณ์ของพลาสติกชนิดนี้คือ เบอร์ 5 หรือ PP
สัญลักษณ์เบอร์ 6: โพลีสไตรีน (PS) เป็นพลาสติกมีลักษณะแข็งและมันวาว แต่เปราะแตกง่าย ยกตัวอย่างเช่น ช้อน ส้อมพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อ ภาชนะโฟม ฝาแก้วกาแฟ
พลาสติกอื่นๆ มีสัญลักษณ์เบอร์ 7 หรือมีคำว่า OTHER กำกับไว้ เป็นพลาสติกแข็งใช้ซ้ำได้ ยกตัวอย่างเช่น ขวดนมเด็ก ขวดน้ำดื่ม กล่องใส่อาหาร พลาสติกชนิดนี้แม้ใช้ซ้ำได้แต่ต้องระมัดระวังสาร Bisphenol A ที่เราเรียกว่า BPA ซึ่งสารนี้เมื่อปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลเสียต่อเซลล์สมอง ระบบประสาท และส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์รวมไปถึงการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต
นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งพลาสติกตามลักษณะของบรรจุภัณฑ์ได้อีกด้วย
1.Multi-Layered Plastic พลาสติกชนิดนี้จะซ่อนอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีลักษณะไม่เหมือนพลาสติก โดยเป็นพลาสติกหลายชั้นประกอบกับวัสดุชนิดอื่น เช่น กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ ซองขนม และหลอดยาสีฟัน เป็นต้น
2.Single-Layered Plastic เป็นฟิล์มพลาสติกที่ยืดหยุ่นได้และเป็นฟิล์มบางๆเพียงชั้นเดียว เช่น ถุงพลาสติกมีหูหิ้ว หลอดพลาสติก พลาสติกแรปห่ออาหาร
พลาสติกเบอร์ 1 PET เป็นพลาสติกที่ถูกรีไซเคิลเยอะที่สุดเพราะมีการจัดการที่ง่ายที่สุดในบรรดาบรรจุภัณฑ์พลาสติก ส่วนพลาสติกบางชนิดยกตัวอย่างเช่น พลาสติกเบอร์ 6 PS หรือ พลาสติกเบอร์ 3 PVC มักจะเป็นพลาสติกที่ไม่ถูกจัดการอย่างเหมาะสม จนกลายเป็นมลพิษขยะพลาสติกออกสู่มหาสมุทร
ยกตัวอย่างขวดเครื่องดื่มที่ประกอบไปด้วยพลาสติกหลายแบบ ขวดอาจประกอบไปด้วย ฝาขวดพลาสติกที่ทำจากพลาสติก เบอร์ 2 หรือ 5 ตัวขวดที่ทำจากพลาสติกเบอร์ 1 และฟิล์มพลาสติกห่อขวดเพื่อบอกฉลากซึ่งทำจากพลาสติกเบอร์ 3